The Dream Of Green Bangkok

Urban Studies Lab
3 min readFeb 12, 2020

ฝุ่น PM 2.5 คือฝุ่นที่มีขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมโครเมตร โดยส่วนใหญ่สาเหตุของฝุ่นชนิดนี้นั้นมาจากการเผาทางการเกษตรกรรม การสันดาปของเครื่องยนต์ชนิดต่าง ๆ และภาคอุตสาหกรรม ส่วนน้อยมากที่จะมาจากธรรมชาติ แต่ฝุ่นชนิดนี้มีความอันตรายเป็นอย่างมากเนื่องจากขนาดที่เล็ก ซึ่งระบบป้องกันของมนุษย์ไม่สามารถที่จะกรองและกำจัดได้ทำให้ฝุ่นพวกนี้สามารถหลุดรอดเข้าไปภายในอวัยวะที่สำคัญของร่างกายได้โดยง่าย ส่งผลให้ผู้ที่ได้รับมีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งและโรคเรื้อรังในอนาคต ความรุนแรงของผลกระทบจากฝุ่น PM 2.5 นั้นขึ้นอยู่กับปริมาณของฝุ่นและกลุ่มของผู้ที่ได้รับฝุ่นเข้าไป กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงคือผู้สูงอายุ เด็กและผู้ป่วยโรคหัวใจและโรคทางเดินหายใจ โดยกรมควบคุมมลพิษได้กำหนดมาตรฐาน PM 2.5 ไว้ที่ ค่าเฉลี่ยความเข้มข้นไม่เกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรใน 24 ชั่วโมง ในขณะที่องค์กรอนามัยโลกได้กำหนดมาตรฐาน PM 2.5 ไว้ที่ ค่าเฉลี่ยความเข้มข้นไม่เกิน 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรใน 24 ชั่วโมง Institute for Health and Evaluation มหาวิทยาลัยวอชิงตัน ชี้ว่ามลพิษทางอากาศเป็นปัจจัยร่วมที่เป็นสาเหตุของโรคต่าง ๆ เนื่องจากมีส่วนประกอบของสารเคมีหลายชนิด ทั้งที่เป็นสารระคายเคืองไปจนถึงสารก่อมะเร็ง จึงเป็นสาเหตุก่อให้เกิดโรค ได้แก่ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคหลอดเลือดในสมอง โรคหัวใจขาดเลือด โรคมะเร็งปอด และโรคติดเชื้อเฉียบพลันระบบหายใจส่วนล่าง ก่อให้เกิดการตายก่อนวัยอันควรในประเทศไทย ประมาณ 50,000 คนต่อปี ส่วน State of Global Air เปิดเผยผลกระทบจาก PM 2.5 ทำให้คนไทยเสียชีวิตอย่างน้อย 37,000 คนต่อปี การศึกษาของ The Nature Conservancy (2016) ระบุว่าในปี 2010 PM2.5 ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตที่อัตรา 3.2 ล้านคนต่อปีและเป็นที่คาดการณ์ว่าในปี 2050 PM2.5 จะส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตที่อัตรา 6.2 ล้านคนต่อปี

ปัญหาหมอกควันและฝุ่น PM 2.5 เป็นประเด็นปัญหาเรื้อรังมานานในพื้นที่ภาคเหนือและภาคใต้มากว่าสิบปี ดังที่พบได้ในประกาศของกรมควบคุมมลพิษเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2550 ภาคเหนือตอนบนประสบปัญหาหมอกควันที่รุนแรงมาก พบว่าระดับหมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็กได้ขึ้นสูงอย่างมากต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลา 3–4 สัปดาห์ ปัญหานี้ส่งผลกระทบต่อธุรกิจการท่องเที่ยวและการบริการ รวมถึงการจราจรทั้งทางบกและทางอากาศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีผลต่อสุขภาพของประชาชนในพื้นที่โดยตรง (กรมควบคุมมลพิษ, 2550) แต่ที่ผ่านมายังไม่มีการแก้ไขและบรรเทาปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมเพราะยังเกิดปัญหาเรื้อรัง ซึ่งความรุนแรงของปัญหาโดยทั่วไปปรากฏชัดเจนในช่วงหน้าแล้ง (ธันวาคม — เมษายน) ของทุกปีที่มีสภาวะอากาศที่แห้งและนิ่ง ทำให้ฝุ่นละอองที่เกิดขึ้นสามารถแขวนลอยอยู่ในบรรยากาศได้นานนอกจากนี้ยังพบว่าปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กเพิ่มขึ้นเนื่องจากความแห้งแล้งที่ส่งผลให้เกิดการเพิ่มขึ้นของไฟป่าและเกษตรกรจะทำการเผาเศษวัสดุเพื่อเตรียมพื้นที่สำหรับทำการเกษตรในช่วงฤดูฝน (วิจารย์, 2008)

Photo by NSU MON from Pexels

ในปี 2019 เกิดความตระหนักและความสนใจในประเด็นปัญหามากขึ้นเนื่องจากเหตุการหมอกควันในพื้นที่กรุงเทพมหานครฯ และปริมณฑล ในช่วงต้นปี 2019 ดังรายงานค่าฝุ่น PM 2.5 ในเดือนมกราคม สถานการณ์ล่าสุดจากเว็บไซต์ Air4Thai ของกรมควบคุมมลพิษได้รายงานค่า Air Quality Index (AQI) ซึ่งวัดได้สูงถึง 204 ที่ถนนพระราม 2 ซึ่งจัดอยู่ในระดับที่อาจส่งผลกระทบเชิงลบต่อสุขภาพและประชาชนทุกคนมีความเสี่ยงที่จะได้รับอันตราย (ศิวัช, 2019) ทางศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้คำนวณต้นทุนค่าเสียโอกาสทั้งด้านสุขภาพและการท่องเที่ยวที่เกิดจากปัญหาฝุ่นละอองเฉพาะในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลในช่วงเวลา 1 เดือน สูงถึง 2,600 ล้านบาท เป็นอย่างต่ำ หรืออาจพุ่งสูงถึง 6,600 ล้านบาท ในกรณีเลวร้ายทั้งใน ประเด็นสุขภาพ การเสียโอกาสการใช้จ่ายและการท่องเที่ยวยังมีแนวโน้มให้เห็นอีกจากค่าฝุ่น AQI ในวันที่ 30 กันยายน 2019 ที่มีค่าสูงถึง 150–200 ในหลายพื้นที่ของกรุงเทพมหานครฯ

เป็นที่รู้กันดีอยู่แล้วว่าพื้นที่สีเขียวในเมืองมีประโยชน์ให้อากาศที่ดีแก่คนเมืองและช่วยลดอุณหภูมิโดยรอบ ให้ความร่มรื่นและความสวยงามที่มีคุณค่าแก่ทั้งสุขภาวะทางร่างกายและจิตใจ นอกจากประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมเหล่านั้นแล้วต้นไม้และพื้นที่สีเขียวในเมืองสามารถเป็นหนึ่งในทางเลือกที่ดีในการบรรเทาและลดผลกระทบของฝุ่น PM 2.5 งานวิจัยโดยหน่วยงานอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของสหรัฐฯ ระบุว่า ในบริเวณต้นไม้ใหญ่พบการลดลงของอนุภาคฝุ่นละอองตั้งแต่ 7–24% ซึ่งอัตราในการลดฝุ่น PM2.5 นั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายปัจจัยมาก ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบ ขนาด พันธุ์ไม้ พื้นที่ การกระจุกและกระจายตัวของต้นไม้ ความสูงของต้นไม้ ฯลฯ

จากการศึกษาของ Novak และทีมในปี 2013 จากเมืองสิบเมืองในสหรัฐอเมริกาพบว่าพื้นที่ต้นไม้ปกคลุมในแต่ละเมืองมีอัตราการลดฝุ่น PM2.5 ต่อตารางเมตรที่แตกต่างกันเช่น เมือง Atlanta อัตราอยู่ที่ 0.36 กรัมต่อปีหรือในเมือง Los Angeles อัตราอยู่ที่ 0.13 กรัมต่อปี โดยมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่อัตรา 0.25 กรัมต่อตารางเมตรต่อปี นอกจากนี้ Novak (2013) ยังพบว่าการบรรเทาฝุ่น PM ด้วยต้นไม้มีความสัมพันธ์โดยตรงกับการลดอัตราการเสียชีวิต การเข้าแอดมิดโรงพยาบาล ผลประโยชน์ด้านสุขภาพต่อพื้นที่ต้นไม้ปกคลุมหนึ่ง hectare หรือ 6.5 ไร่มีค่าคิดเป็นเงินประมาณ 1,600 ดอลล่าหรือ 48,000 บาท ผลประโยชน์ด้านสุขภาพจากการบรรเทาฝุ่น PM คิดเป็นมูลค่า 122 ล้านดอลล่าในเมือง Syracuse และ 6,200 ล้านดอลล่าในเมือง New York โดยค่าเฉลี่ยของทุกเมืองอยู่ที่ 1,600 ล้านดอลล่า

จากงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่สีเขียวและมลภาวะทางอากาศ พื้นที่สีเขียวในรูปแบบสวนป่าในเมืองจะช่วยบรรเทามลภาวะทางอากาศและให้ผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจมากที่สุด (Alonso et al., 2011; Baro et al., 2014; Cabaraban, Kroll, Hirabayashi & Nowak, 2013; Escobedo & Nowak, 2009; Kroeger et al., 2014; Manes et al., 2012; McPherson et al., 2011; Nowak, Hirabayashi, Bodine & Greenfield, 2014; Nowak, Hirabayashi, Bodine & Hoehn, 2013; Tallis, Taylor, Sinnett & Freer-Smith, 2011; and Tiwary et al., 2009). ในประเทศอังกฤษ การสร้างแบบจำลองระดับภูมิภาคชี้ให้เห็นว่าต้นไม้ใหญ่ของส่วนป่าในเมืองในพื้นที่ Greater London สามารถลดฝุ่น PM10 ได้ 852 ถึง 2121 ตันต่อปี? โดยมีแผนที่จะเพิ่มพื้นที่ต้นไม้ปกคลุมอีก 20 ถึง 30 เปอร์เซ็นต์ภายในปี 2050 (Tallis et al., 2011).

จากการศึกษาของ Chen (2019) ในบริบทของขนาดเชิงพื้นที่ ความสามารถในการบรรเทาฝุ่น PM2.5 ของพื้นที่สีเขียวในระดับชุมชนจะหายไปหากมีขนาดน้อยกว่า 200 เมตรและจะมีประสิทธิภาพที่สุดในขนาด 400–500 เมตร ในระยะทางที่สั้นกว่าองค์ประกอบของพื้นที่สีเขียวจะส่งผลต่อประสิทธิภาพของการบรรเทามลภาวะจากฝุ่นPM มากกว่าในขณะที่ในระยะทางที่ไกลออกไปรูปทรงของพื้นที่สีเขียวจะมีความสำคัญมากกว่าในการลดฝุ่น PM หากเราอยากจะวางผังเมืองและวางผังสำหรับพื้นที่สีเขียวสำหรับพื้นที่ในเมืองขนาดใหญ่ประมาณ 4 ตารางกิโลเมตร (2 x 2 กิโลเมตร) หรือ 9 ตารางกิโลเมตร (3 x 3 กิโลเมตร) เราควรจะต้องวางผังให้มีพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่ที่เชื่อมต่อกันและออกแบบให้ขอบเขตของพื้นที่สีเขียวมีลักษณะไม่เป็นระเบียบมากที่สุด (irregularly) เพื่อที่จะเพิ่มประสิทธิภาพในการลดฝุ่น PM2.5 (Chen et al, 2019) การใช้พืชพันธุ์ต่าง ๆ มาช่วยเป็นพื้นที่กำบังหรือสิ่งกีดขวางระหว่างพื้นที่ที่มีมลภาวะสูงเช่นถนนที่รถยนต์พลุกพล่านและพื้นที่ที่เปราะบางต่อมลภาวะเช่นสนามเด็กเล่น โรงเรียน โรงพยาบาลและพื้นที่อยู่อาศัยก็มีความสำคัญมาก

ในส่วนของชนิดของต้นไม้ในพื้นที่สีเขียวนั้น พันธุ์ไม้ที่มีความสามารถในการจับอนุภาคฝุ่นได้ดีเกิดจากลักษณะใบที่หยาบหรือมีขน เป็นไม้ไม่ผลัดใบ มีพื้นที่ผิวใบรวมทั้งต้นมาก หรือมีลักษณะของกิ่งก้านที่สลับซับซ้อน (พุทธไทย, ภักดีกุล, และ พัฒนเกียรติ, 2019) ได้แก่ สร้อยอินทนิล เล็บมือนาง พวงคราม ในกลุ่มไม้เลื้อย แก้ว หางนกยูงไทย ทองอุไรในกลุ่มไม้พุ่มและตะขบฝรั่ง เสลา แคแสดในกลุ่มไม้ต้น รวมไปถึงไม้เลื้อยที่ปลูกในลักษณะม่านต้นไม้ นอกจากพื้นที่สีเขียวบนพื้นดินแล้ว การใช้หลังคาสีเขียวก็เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งนอกจากประโยชน์ในการช่วยลดอุณหภูมิในเมืองแล้ว หลังคาสีเขียวก็สามารถช่วยบรรเทาฝุ่น PM 2.5 ได้เช่นกัน โดยจากการศึกษาของ Rowe (2011) การปรับเปลี่ยนหลังคาของอาคาร 20% ในเมือง Washington, D.C. สามารถลดมลพิษทางอากาศในปริมาณเทียบเท่ากับต้นไม้บนถนน 17,000 ต้น ส่วนหลังคาสีเขียวในย่านธุรกิจของเมือง Montreal ที่ส่วนใหญ่ปลูกต้นสนแคระ (Dwarf Mountain Pine) สามารถช่วยลดฝุ่น PM2.5 ได้ในอัตรา 1.52 กรัมต่อตารางเมตรต่อปี

หันกลับมาดูที่กรุงเทพฯ จากข้อมูลสำนักงานสวนสาธารณะของกรุงเทพฯ เมื่อปี 2017 ระบุว่ากรุงเทพฯ มีพื้นที่สีเขียวรวม 6.43 ตารางเมตรต่อคนเท่านั้น ทั้งนี้อาจจะเป็นการนับเฉพาะพื้นที่สีเขียวสาธารณะ จากการศึกษาโดย Mor and farmer (2019) ที่ใช้ Machine Learning ในการแยกพื้นที่ต้นไม้ออกมาจากภาพถ่ายดาวเทียมพบว่ากรุงเทพฯ มีพื้นที่ต้นไม้ต่อพื้นที่ทั้งหมดคิดเป็น 13.7% ซึ่งต่ำกว่ามาตราฐานตามข้อกำหนดแนวคิดเมืองสีเขียวของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอให้ควรมีพื้นที่สีเขียวต่อพื้นที่ดิน 30–50% โดยพื้นที่ต้นไม้ต่อเขตน้อยที่สุดได้แก่ เขตสัมพันธวงศ์ (4.6%) เขตป้อมปราบฯ (6.8%) เขตหนองจอก (7.2%) โดยพื้นที่ที่มีต้นไม้ต่อเขตมากที่สุดคือ เขตตลิ่งชัน (22.6%) เขตจอมทอง (21.2%) เขตภาษีเจริญ (20.4%) โดยพบว่ามีพื้นที่ต้นไม้ในกรุงเทพฯ ทั้งหมด 227 ตร.กม. หากใช้อัตราเฉลี่ยการลดฝุ่นจากงานวิจัยของ Novak ต้นไม้ทั้งหมดในกรุงเทพฯจะช่วยลดฝุ่น PM2.5 เป็นจำนวน 56.75 ตัน/ปี

ส่วนในด้านพื้นที่ต้นไม้ต่อคนของกรุงเทพฯ จะมีพื้นที่เฉลี่ยอยู่ที่ 40 ตร.ม. ซึ่งพื้นที่กรุงเทพฯชั้นในมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 18 ตร.ม./คน พื้นที่กรุงเทพฯชั้นนอกมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 50 ตร.ม./คน โดยเขตที่มีพื้นที่ต้นไม้ต่อคนมากที่สุด 3 อันดับคือ เขตทวีวัฒนา (141 ตร.ม./คน) หนองจอก (106 ตร.ม./คน) บางขุนเทียน (94 ตร.ม./คน) ส่วน เขตที่มีพื้นที่ต้นไม้ต่อคนน้อยที่สุด3 อันดับคือ เขตสัมพันธวงศ์ (3 ตร.ม./คน) ป้อมปราบ (4 ตร.ม./คน) ดินแดง (7 ตร.ม./คน) ซึ่งองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้กำหนดเกณฑ์ขั้นต่ำไว้ที่ 9 ตร.ม./คน (Mor and farmer, 2019) ทั้งนี้เสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้จากโพสต์ของ mor and farmer โดยตรง

ในปีหน้าเราควรที่จะใช้ประโยชน์จากพระราชบัญญัติ ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. ๒๕๖๒ ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นให้เจ้าของที่ดินใช้ประโยชน์ในที่ดินอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงลดปัญหาการกักตุนที่ดินเพื่อเก็งกำไร รวมถึงกระตุ้นให้เกิดการกระจายการถือครองที่ดิน ก็อาจจะเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะผลักดันให้เกิดการพัฒนาพื้นที่สีเขียวในเมืองให้มากขึ้น โดยเฉพาะถ้าการพัฒนาพื้นที่สีเขียวนั้นอาจจะทำให้ช่วยลดส่วนต่างระหว่างอัตราเพดานพื้นที่เกษตรกรรม 0.15% พื้นที่อยู่อาศัย 0.3% พื้นที่พาณิชยกรรม 1.2% พื้นที่รกร้างว่างเปล่า 3.0% รวมไปถึงขั้นการยกเว้นภาษีทรัพย์สินของเอกชนเฉพาะส่วนที่ได้ยินยอมให้ทางราชการจัดให้ใช้เพื่อสาธารณประโยชน์ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังประกาศกำหนด

ที่มา:

Mor and farmer (2019) https://www.facebook.com/morandfarmer/posts/2472452396106558 accessed on 1 October 2019

พุทธไทย, ภักดีกุล, และ พัฒนเกียรติ (2019) https://en.mahidol.ac.th/images/Factsheet_EN_Thamarat.pdf accessed on 11 February 2020

--

--